หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ลดทุนจดทะเบียนบริษัท ผู้ถือหุ้นอาจถูกฟ้องคดีได้

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในเรื่องหุ้นส่วนบริษัทก็ได้วางหลักกฎหมายไว้ให้บริษัทจำกัดสามารถลดทุนลงได้ไม่ว่าจะเป็นการลดมูลค่าหุ้นให้ต่ำลง หรือลดจำนวนหุ้นให้น้อยลง โดยมติพิเศษของที่ประชุมผู้ถือหุ้น และทุนที่ลดลงไปนั้นจะให้ลดลงเหลือน้อยกว่า ๑ ใน ๔ ของทุนทั้งหมดไม่ได้ ที่กฎหมายวางหลักเรื่องลดทุนเอาไว้ก็เพื่อลดภาวะการขาดทุนของบริษัทจดทะเบียนลง แต่บริษัทที่จะลดทุนลงจะต้องลงประกาศหนังสือพิมพ์แห่งท้องถิ่นและมีหนังสือบอกกล่าวไปยัง บรรดาผู้เป็นเจ้าหนี้ของบริษัท ซึ่งบริษัทรู้ว่าเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทเพื่อบอกให้ทราบรายการที่ประสงค์จะลดทุนและให้ผู้เป็นเจ้าหนี้ส่งคำคัดค้านภายใน ๓๐ วันนับแต่วันบอกกล่าว ถ้าไม่คัดค้านภายในกำหนด ๓๐ วันก็ให้ถือว่าไม่มีการคัดค้าน แต่ถ้าหากเจ้าหนี้คัดค้านบริษัทนั้นจะลดทุนลงไมได้จนกว่าจะได้ใช้หนี้หรือได้ให้ประกันแก่เจ้าหนี้รายนั้นแล้ว ซึ่งบริษัทที่จะลดทุนต้องทำ ๒ อย่างคือ ลงประกาศหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและมีหนังสือบอกล่าวไปยังบรรดาผู้ซึ่งตนรู้อยู่ว่าเป็นเจ้าหนี้ หากลงประกาศหนังสือพิมพ์อย่างเดียวและไม่ได้มีหนังสือบอกล่าวก็ถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การลดทุนก็อาจจะเป็นผลเสียแก่เจ้าหนี้และเจ้าหนี้อาจจะไม่ได้รับชำระหนี้หรือบังคับชำระหนี้เอากับบริษัทที่ลดทุนลงไม่ได้เนื่องจากบริษัทที่ลดทุนไม่มีเงินหรือไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะนำมาชำระหนี้ได้จึงกำหนดไว้ว่าต้องให้บอกกล่าวแก่เจ้าหนี้ก่อนเพื่อให้คัดค้านภายในกำหนด และก็นำมติอนุญาตให้ลดทุนไปจดทะเบียนภายใน ๑๔ วันนับแต่วันที่ได้ลงมติ
โดยปกติผู้ถือหุ้นในบริษัทก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดในหนี้ของบริษัทเป็นการส่วนตัวอยู่แล้วเว้นแต่ยังส่งใช้ค่าหุ้นยังไม่ครบมูลค่าหุ้นก็นต้องรับผิดในค่าหุ้นที่ยังส่งใช้ไม่ครบอยู่เท่านั้น นอกจากนี้ก็ยังมีความรับผิดในคดีอาญา เช่น กรรมการผู้จัดการที่ลงนามสั่งจ่ายเช็คของบริษัท กรรมการผู้นั้นก็ต้อรับผิดในทางอาญาด้วย เพราะผู้ลงนามในเช็คก็ต้องรับผิดในเช็คนั้นด้วย ดังนั้นหากท่านมีลูกหนี้เป็นบริษัทก็ควรให้เขาชำระหนี้ด้วยเช็คก็จะทำให้มีหลักประกันเพิ่มขึ้นด้วย
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๒๗ บัญญัตว่า" ถ้ามีเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดละเลยเสียมิได้คัดค้านในการที่บริษัทจะลดทุนลงเพราะเหตุว่าตนไม่ทราบความและเหตุที่ไม่ทราบนั้นมิได้เป็นเพราะความผิดของเจ้าหนี้คนนั้นแต่อย่างใดไซร้ ท่านว่าผู้ถือหุ้นทั้งหลายบรรดาที่ได้รับเงินคืนไปบางส่วนที่ลดหุ้นลงนั้น ยังคงจะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้เช่นนั้น เพียงจำนวนที่ได้รับทุนคืนไปชั่วเวลาสองปีนับแต่วันที่ได้จดทะเบียนการลดทุนนั้น"
กรณีนี้จึงเป็นกรณีที่ลดทุนไปแล้วแต่เจ้าหนี้ไม่ได้คัดค้านภายในกำหนด แต่ที่ไม่ทราบไม่ได้เป็นความผิดของเจ้าหนี้ อย่างนี้ผู้ถือหุ้นที่ได้รับทุนคืนไปจาการลดทุนก็ต้องรับผิดด้วย เช่นได้รับทุนคืนไปเท่าไหร่ก็รับผิดไม่เกินจำนวนที่ได้รับทุนคืนไป และเจ้าหนี้ก็สามารถฟ้องร้องผู้ถือหุ้นให้รับผิดได้ภายในสองปีนับแต่วันที่ได้จดทะเบียนลดทุนนั้น ดั้นนั้นเมื่อลดทุนแล้วผู้ถือหุ้นต้องระวังเพราะอาจถูกเจ้าหนี้มาฟ้องให้รับผิดได้

วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554

คดีลิขสิทธิ์ ใช้เพื่อการศึกษาไม่หากำไรไม่ละเมิดลิขสิทธิ์

พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ มาตรา ๓๒ การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นตามพระราชบัญญัตฺนี้ หากไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
ภายใต้บังคับบทบัญญัติในวรรคหนึ่ง การกระทำแก่งานอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามวรรคหนึ่งมิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
(๑) วิจัยหรือศึกษางานนั้น อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
---------------------------------------------------

ฎ.๑๗๓๒/๒๕๔๓ จำเลยมีอาชีพรับจ้างถ่ายเอกสาร ได้นำเครื่องถ่ายเอกสารทำสำเนาจากต้นฉบับหนังสือ ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งสาม แล้วเข้าเล่มจำนวน ๗๑ เล่ม ยังไม่เข้าเล่ม ๒๙๐ ชุด เอกสารเป็นแผ่น ๑๕๘ ชุด จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยรับจ้างถ่ายเอกสารตามคำสั่งของนักศึกษาผู้ว่าจ้างที่นำไปใช้เพื่อการศึกษาและวิจัย จึงได้รับการยกเว้นมิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องนำสืบพิสูจน์ตามข้อกล่าวอ้างข้างต้น แต่จำเลยไม่มีหลักฐานมาแสดงให้เห็นได้ว่ามีนักศึกษามาว่าจ้างให้จำเลยถ่ายเอกสารสำเนาของกลาง เพื่อนำไปใช้ในการศึกษาหรือวิจัยอันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร พยานหลักฐานของจำเลยคงมีจำเลยปากเดียวเบิกความว่า จำเลยรับจ้างนักศึกษาถ่ายสำเนาเอกสารของกลาง โดยไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการว่าจ้างและนักศึกษาที่ว่าจ้าง จึงเป็นเพียงคำเบิกความลอยๆไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเข้าเงื่อนไขแห่งข้อยกเว้นความรับผิดดังที่จำเลยอ้าง จำเลยจึงมีความผิดฐานทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งสามตามฟ้อง

จากคำพิพากษาดังกล่าวจะเห็นว่าจำเลยไม่มีพยานมาเบิกความอ้างอิงยืนยันว่ามีนักศึกษาใครบ้างที่มาจ้างให้ถ่ายสำเนาเอกสารดังกล่าวเมื่อวันเวลาใด จำนวนคนละกี่ชุด และมีค่าจ้างชุดละเท่าไร ก็จะพอมีน้ำหนักว่ารับจ้างถ่ายเอกสารให้แก่นักศึกษาเพื่อนำไปใช้ในการศึกษา แต่ปริมาณการถ่ายไว้เป็นจำนวนมากเข้าเล่มแล้ว ๗๑ เล่ม ยังไม่เข้าเล่ม ๒๙๐ ชุด และเอกสารเเป็นแผ่นอีก ๑๕๘ ชุด ก็คงจะหาพยานมายืนยันว่าเป็นผู้ว่าจ้างให้ถ่ายเอกสารทั้งหมดคงจะยาก แต่ถ้าหากมีพยานมายืนยันและมีหลักฐานยืนยันมีตัวตนที่แน่นอนว่าใครบ้างเป็นผู้ว่าจ้างให้ถ่ายเอกสารทั้งหมดผลของคำพิพากษาคงจะต่างไปจากนี้ ดูจากพฤติการณ์แล้วจำเลยคงจะถ่ายเอกสารและเข้าเล่มไว้เพื่อจำหน่ายให้แก่นักศึกษาแต่ยังไม่มีการจำหน่ายออกไปตรงนี้จึงยังไม่ชี้ชัดว่าเพื่อแสวงหากำไร คำพิพากษาของศาลจึงออกมาในแนวทางดังกล่าวข้างต้น

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554

คดีรับเหมาก่อสร้าง ต้องเตรียมอะไรบ้างถ้าจะฟ้องคดี

คดีรับเหมาก่อสร้าง อาจเป็นคดีจ้างแรงงานหรือจ้างทำของก็ได้ ถ้าจ้างเป็นค่าแรงอย่างเดียวไม่รวมค่าวัสดุก็เป็นจ้างแรงงาน ถ้าจ้าเหมารวมทั้งค่าแรงและค่าวัสดุด้วยก็เป็นจ้างทำของ ปัญหาในคดีรับเหมาก่อสร้างก็อาจเกิดขึ้นได้ทั้งที่เป็นความผิดอันเกิดจากฝ่ายผู้ว่าจ้างเองหรือเกิดจากความผิดอันเกิดจากผู้รับจ้างหรือผู้รับเหมานั่นเอง แต่สิ่งสำคัญที่จะทำไปสู่การแพ้ชนะในคดีก็คือพยานหลักฐานที่ได้เก็บรวบรวมไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตลอดจนถึงมาตราฐานในการก่อสร้างตามหลักวิศวกรรมซึ่งต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญทางวิศวกรรมหรือทางสถาปัตยกรรมเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องอีกทางหนึ่งด้วย

ความผิดอันเกิดจากฝ่ายผู้ว่าจ้างเองก็จะเป็นจำพวกชอบเปลี่ยนใจบ่อยเปลี่ยนแปลงแก้ไขอยู่ตลอด เช่นเปลี่ยนแปลงวัสดุที่ใช้ต้องการใช้วัสดุพิเศษซึ่งหายากหรือมีราคาแพงหรือแม้กกระทั่งจัดหาวัสดุมาเองเป็นบางส่วน บ้างก็ชอบแก้ไขเพิ่มหรือลดหรือตัดทอนเปลี่ยนแปลงแก้ไขแบบอยู่ตลอด ทำให้เกิดปัญหากับฝ่ายผู้รับจ้างหรือผู้รับเหมาทำให้ไม่สามารถทำงานได้เสร็จตามเวลาที่กำหนด ต้องเสียค่าแรงเพิ่ม ต้องเสียค่าปรับกรณีก่อสร้างล่าช้า และไม่สามารถคำนวณค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายที่แท้จริงออกมาได้ ซึ่งการข้อแก้ไขให้ผิดไปจากแบแปลนเดิมที่ได้ออกแบบไว้ไม่ว่าจะเป็นปรับเพิ่มหรือปรับลดหรือเปลี่ยนแปลงวัสดุทุกครั้งจะต้องมีการคำนวณต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ปรับเพิ่มหรือปรับลดตลอดจนระยะเวลาการทำงานที่ต้องเพิ่มขึ้นจากเดิมซึ่งต้องขอขยายระยะเวลาการทำงานไปด้วยโดยทำเป็นหนังสือหลักฐานแจ้งให้ผู้ว่าจ้างเซ็นรับทราบทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข รวมถึงรูปถ่ายขั้นตอนในการทำงานในแต่ละขั้นตอนรวบรวมเอาไว้และต้องเก็บใบเสร็จรับเงินค่าวัสดุอุปกรณ์ทุกใบรวมถึงบิลค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่นค่านำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หรือค่าจ้างพิเศษอื่น ๆที่นอกเหนือไปจากนี้ต้องเก็บไว้ให้หมด เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นหากผู้ว่าจ้างจะหาเหตุที่จะไม่ยอมจ่ายเงินโดยอ้างว่าผู้รับจ้างผิดสัญญาก่อสร้างไม่เป็นไปตามแบบหรือก่อสร้างล่าช้า

ความผิดอันเกิดจาฝ่ายผู้รับจ้างหรือผู้รับเหมา โดยมากก็ไม้พ้นรับเงินไปแล้วไม่ทำงาน ทิ้งงานหนีไป หรือทำงานไม่เสร็จตากำหนด เบิกเงินไปมากกว่าที่จะทำจริงและใช้เงินหมดทำให้ไม่สามารถทำงานต่อไปได้ หรือทำงานไม่ได้มาตราฐานใช้แรงงานฝีมือต่ำงานที่ทำออกมาก็จะไม่ได้มาตราฐานซึ่งตรงนี้ต้องวัดด้วยหลักทางวิศวกรรมกรรมและสถาปัตยกรรม ก่อนที่จะว่าจ้างจึงต้องขอดูผลงานเก่า ๆ ที่ผู้รับจ้างหรือผู้รับเหมาเคยทำไว้ว่ามีผลงานมากน้อยแค่ไหนมีฝีมือเพียงใด นอกจากนี้ผู้ว่าจ้างต้องเตรียมในเรื่องสัญญาการก่อสร้างต้องร่างสัญญาให้รัดกุมและควบคุมการเบิกจ่ายเงินให้เป็นไปในแต่ละงวดงาน หรือประเมินจากผลงานว่าทำไปได้กี่เปอร์เซ็นต์ ไม่จ่ายมากไปจนเกินจริงและต้องตรวจสวบผลงานโดยตลอดหากเห็นว่าไม่เป็นไปตามแบบหรือตามข้อตกลงก็ต้องไม่เซ็นรับมอบงานในงวดงานนั้น ๆ จนกว่าจะมีการแก้ไขให้เรียบร้อย รวมถึงต้องเก็บหลักฐานรูปถ่ายขั้นตอนการทำงานรวบรวมเอาไว้รวมถึงใบเสร็จรับเงินหรือสำเนาใบเสร็จที่จ่ายเงินหลักฐานการรับเงินแต่ละครั้งรวบรวมเอาไว้ ก็จะเป็นประโยชน์หากภายหลังจะต้องมีการฟ้องคดี

วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2554

คดีที่ดิน กรรมสิทธิ์รวม มรดก สละมรดก

ผู้ที่มีชื่อในเอกสารสิทธิ์ เช่นโฉนดที่ดินหรือ นส.๓ก. ถ้าไม่ได้ระบุว่าผู้ถือกรรมสิทธิ์กันคนละกี่ส่วนกฎหมายให้สันนิษฐานว่าถือว่ากันคนละส่วน เท่า ๆ กัน เช่นมีชื่อนาย ก.และนาย ข.ก็จะมีสิทธิคนละครึ่ง ถ้ามี ๓ คน ก็เฉลี่ยหารสาม ได้คนละส่วนเท่า ๆ กัน
เขียนถึงเรื่องนี้ เพราะนึกถึงคดีหนึ่งที่ผมเคยทำนานมาแล้ว คดีนี้สมมุติว่ามีนางทองเป็นเจ้ามรดก มีที่ดิน ๑ แปลงเป็น นส. ๓ก. เมื่อนางทองตาย มรดกย่อมตกทอดแก่ทายาท นางทองมีบุตร ๕ คนคือ นาง ก. นาย ข. นางค. นาง ง. และนาง จ. แต่นาย ข.ตายก่อนนางทอง นายข. มีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายคือนาง แดง มีบุตรด้วยกัน ๑ คน ชื่อเด็กหญิงอ้อย อายุ ๒ ขวบ บุตรของนาย ข. จึงเป็นผู้รับมรดกแทนที่ นาง ก. ไปขอรับมรดกนางทองในฐานะทายาท โดยนาง ค. นาง ง. และนาง จ. ได้ทำหนังสือสละมรดกทั้งสามคน เนื่องจากนาง ก. มีบุญคุณกับทั้งสามคนนี้ โดยนาง ก.เข้าใจว่าเมื่อสละมรดกแล้ว มรดกส่วนของบุคคลทั้งสามที่สละจะตกเป็นของตนทั้งหมด ซึ่งตามกฎหมายการสละมรดกเป็นการสละไปเลยโดยเด็ดขาดผู้สละมรดกไม่มีสิทธิจะเอามรดกไปยกให้กับใครได้อีก แต่เด็กหญิงอ้อยบุตรของนาย ข. กับนางแดง ไม่สามารถสละมรดกได้เนื่องจากเป็นผู้เยาว์ เจ้าพนักงานที่ดินจึงใส่ชื่อ นาง ก.และเด็กหญิงอ้อย เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ โดยไม่ได้ระบุว่ามีสิทธิถือครองคนละเท่าไร
ต่อมาอีก ๑๓ ปี นางก.ได้ไปบอกนางแดงมารดาเด็กหญิงอ้อยปัจจุบันเป็น น.ส.อ้อย ว่าจะขายที่ดินและมีผู้มาทำสัญญาจะซื้อจะขายตกลงราคาขายที่ ๕ ล้านบาท และได้วางมัดจำไว้ ๑ ล้านบาท นาง ก.จึงแบ่งเงินให้นางแดงมารดา น.ส.อ้อย ๒ แสนบาทด้วยเข้าใจว่า น.ส.อ้อย มีส่วนในที่ดินเพียง ๑ ใน ๕ ส่วน ต่อมาผู้ซื้อไม่มาวางเงินตามสัญญา ซึ่งเท่ากับผิดสัญญา และสามารถริบมัดจำได้ นางแดงมารดาน.ส.อ้อยต้องการเงินอีก ๘ แสน จึงไปขอส่วนที่เหลือจากนาง ก. นาง ก.อ้างว่าผู้จะซื้อไม่มาวางเงินต้องรอไปก่อนถ้าอยากได้ให้ไปฟ้องคดีเอาเอง
นางแดงมาปรึกษาผมว่าจะทำอย่างไร ผมจึงแนะนำว่าถ้าจะฟ้องขอเงินส่วนที่เหลืออีก ๘ แสนก็ไม่ได้เพราะนาง ก.ไม่ใช่คู่สัญญาจะซื้อจะขายกับนางแดง และต้องเสียค่าธรรมเนียมอย่างคดีมีทุนทรัพย์ แต่สิทธิของน.ส.อ้อย คือมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับนาง ก. ผมจึงฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์ครึ่งหนึ่ง ซึ่งเสียค่าขึ้นศาลเพียง ๒๐๐ บาท แต่นาง ก. ให้การต่อสู้และฟ้องแย้งเรื่องกรรมสิทธิ์ นาง ก.จึงต้องเสียค่าธรรมเนียมตามทุนทรัพย์ที่ฟ้องแย้ง เมื่อสืบพยานโจทก์คือฝ่ายนางแดงมารดา น.ส.อ้อยเสร็จ ทนายจำเลยคือฝ่ายนาง ก. ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความจ่ายเงิน ๘ แสนบาทให้แก่นางแดงมารดาของ น.ส.อ้อย เพราะกลัวจะเสียที่ดินครึ่งหนึ่งของทั้งหมดไม่ใช่ ๑ ใน ๕ ส่วน อย่างที่ตนคิด นางแดงจึงได้เงิน ๘ แสนบาทตามที่ปรารถนาและโอนที่ดินส่วน น.ส.อ้อยให้กับนาง ก. ไป นี่คือผลของข้อสัญนิษฐานของกฎหมายนี้

วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2553

ค่าส่วนกลาง เวรหรือกรรมของคนอยู่คอนโด

เหตุที่เขียนเรื่องนี้เพราะมีคนที่รู้จักมักคุ้นกันซื้อคอนโดเอาไว้ แล้วก็เกิดความวิตกกังวลเมื่อเห็นงบดุลของคอนโดที่ซื้อไว้ติดลบอยู่ทุกปีและก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เลยมาปรึกษาผมว่าจะทำอย่างไรดี ผมก็บอกว่าหนี้สินของนิติบุคคลอาคารชุด ผู้เป็นเจ้าของร่วมทุกคนก็ต้องร่วมกันรับผิดตามอัตราส่วนเฉลี่ยของพื้นที่ของแต่ละคนที่เป็นเจ้าของ หากการบริหารงานเป็นไปตามมติของกรรมการนิติบุคคลฯ เมื่อขาดทุนมากๆ นิติบุคคลฯก็คงเลือกที่จะลดรายจ่าย(เช่นลดแม่บ้าน หรือ รปภ ให้น้อยลง) ซึ่งก็คงไม่ดีนักกับผู้อยู่อาศัยในเรื่องความสะอาดและความปลอดภัย กับเลือที่จะขึ้นค่าส่วนกลาง ซึ่งมากเกินไปคนอยู่อาศัยก็มีภาระเพิ่มโดยไม่จำเป็น คอนโดที่ผมเล่าให้ฟังนี้เป็นคอนโดเล็กๆ มี ๒ อาคาร สูง ๕ ชั้น อยู่ติดกัน และมีห้องชุดในคอนโดเพียงอาคารละ ๕๐ กว่าห้อง รวมทั้งสองอาคารร้อยกว่าห้อง เสียค่าส่วนกลางตารางเมตรละ ๒๐ บาท (ถ้าขึ้นราคาจะเป็นตารางเมตรละ ๓๐ บาท) ถ้าห้องขนาด ๓๒ ตารางเมตรก็จะเสียค่าส่วนกลาง ๙๖๐ บาท ซึ่งคนในดอนโดบางคนก็รับได้บางคนก็รับไม่ได้ บางคนที่ซื้อไว้ไม่ได้อยู่ก็อยากจะขายทิ้งให้มันรู้แล้วรู้รอดกันไป บางคนที่ซื้อไว้อยู่เองหลังจากเกษียณและมีรายได้ด้วยเงินบำนาญ แล้วจะต้องมารับค่าใช้จ่ายเพิ่มอีกด้วยแล้วยิ่งน่าเป็นห่วง
ผมได้ลองตรวจดูงบดุลก็ไม่เห็นความผิดปกติหรือความทุจริตเกิดขึ้น แต่พบว่าคอนโดแห่งนี้มีค่าบริหารซึ่งต้องว่าจ้างบริษัทบริหารเดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาทต่อ ๑ อาคาร ๒ อาคารก็เป็น ๔๐,๐๐๐ บาท ปีนึงก็เสียค่าบริหารอาคารละ ๒๔๐,๐๐๐ บาท และยังมีเงินเดือนผู้จัดการคอนโดอาคารละ ๕,๐๐๐ บาทต่อเดือน แต่คอนโดแห่งนี้ขาดทุนปีละ ๑๒๐,๐๐๐ บาทต่อ ๑ อาคาร ถ้าหากลดค่าบริหารลงก็คงจะไม่ต้องขึ้นค่าส่วนกลางแต่อย่างใด แต่บริษัทที่รับจ้างบริหารเขาไม่ยอมหรอก เพราะเขาฝังรากมานานและรับมรดกตกทอดมาจากเจ้าของโครงการเดิมและเจ้าของโครงการก็ยังถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดอยู่เยอะ เรียกว่ามีเสียงเป็นกรรมการบริหารอยู่ส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งจะประชุมลงมติแต่ละทีเจ้าของห้องชุดก็ไม่ค่อยให้ความร่วมมือกันซักเท่าไหร่เพราะไม่อยากเสียเวลา ยิ่งบริหารขาดทุนยิ่งต้องโต้เถียงกันนาน
ทางแก้ก็น่าเป็นการบริหารกันเองโดยแต่งตั้งผู้จัดการนิติฯซึ่งเป็บบุคคลธรรมดาซึ่งต้องแต่งตั้งโดยมติที่ประชุมใหญ่ โดยรอให้บริษัทซึ่งเป็นผู้จัดการนิติครบวาระและก็ไม่ต้องต่อสัญญาว่าจ้างกันใหม่ ซึ่งเจ้าของห้องชุดก็คงจะต้องเตรียมล็อบบี้เจ้าของห้องชุดให้ได้เสียงมากเพียงพอก่อน ไม่งั้นคงจะโหวตแพ้เขาแน่ ๆ แต่ถ้าวาระยังอยู่อีกนาน แล้วอึดอัดใจทนไม่ไหวอยากจะเปลี่ยนแปลงเร็ว ๆ ก็คงต้องให้มีการนัดประชุมใหญ่วิสามัญโดยเฉพาะเพื่อนถอดถอนผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด (แต่วิธีนี้จะมีปัญหาเพราะผู้จัดการที่ถูกถอดถอนก็จะไปบริหารอาคารชุดที่อื่นไม่ได้ซึ่งทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันได้) แต่ผู้จัดการนิติชุดเดิมเขารู้ตัวเขาคงเลือกที่จะลาออกมากกว่า เมื่อถอนถอนผู้จัดการนิติฯแล้วก็บรรจุวาระแต่งตั้งผู้จัดการนิติบุคคลคนใหม่เสียในคราวเดียวเลย โดยมติที่ประชุมใหญ่ เท่านี้เองชาวคอนโดก็ไม่ต้องขวัญผวาว่าเมื่อไหร่จะขึ้นค่าส่วนกลางอีกต้องร่วมมือกันนะครับ คอนโดของเราบ้านของเราๆต้องช่วยกัน หากผู้อ่านมีปัญหาที่คล้าย ๆ กันนี้อยากจะปรึกษาหาวิธีแก้ไข หรือหาผู้จัดการบริหารที่ไว้วางใจได้และไม่ต้องเสียค่าบริหารจัดการในรูปบริษัทซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงผมก็ยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือครับ

วันเสาร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2553

งานที่ปรึกษากฎหมาย กันไว้ดีกว่าแก้

ในยุคสมัยนี้ หน่วยงานธุรกิจองค์กรเอกชนทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลาง ต่างก็จะต้องหาที่ปรึกษากฎหมายมาประจำหน่วยงานหรือองค์กรนั้น ๆ เพื่อให้คำแนะนำข้อคิดเห็นขององค์กรหรือหนวยงานนั้น ๆ ในด้านกฎหมาย ให้คำแนะนำเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และเอกสารทางกฎหมายต่าง ๆ ตี ความเรื่องสิทธิหน้าที่และข้อผูกพันทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของหน่วยงานนั้น ให้ผู้บริหารหน่วยงานระดับสูงทราบ ซึ่งที่ปรึกษากฎหมายต้องมีความชำนาญและเชี่ยวชาญในอาชีพ เช่นมีประสบการณ์ในการว่าความเป็นทนายมานาน เป็นอาจารย์สอนกฎหมาย หรือเป็นอดีตตุลาการมาก่อน และต้องเป็นผู้ที่หน่วยงานหรือองค์กรเหล่านั้นไว้วางใจด้วย ซึ่งต้องมีความรอบรู้เกี่ยวกับกฎหมายด้านต่าง ๆ และต้องรู้ลึกรู้จริงในด้านกฎหมายเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานหรือองค์กรที่ไปให้คำปรึกษาด้วย ที่เป็นเช่นนี้เพราะหน่วยงานหรือองค์กรขนาดใหญ่และขนาดกลางเหล่านี้ ต้องการความมั่นใจและความแน่นอนในการประกอบธุรกิจ ทั้งยังป้องกันความผิดพลาดอันอาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งก็เป็นป้องกันไว้ก่อน กันไว้ดีกว่าแก้ครับไงครับ เพราะได้อาศัยที่ปรึกษากฎหมายเหล่านี้ช่วยตรวจสอบลูกค้า หรือสัญญาที่หน่วยงานหรือองค์กรจะต้องทำกับบุคคลอื่นว่าสมควรค้าขายหรือทำธุรกิจร่วมกันได้ไหม หรือมีความไม่ชอบมาพากลแอบแฝงอยู่หรือไม่จะได้ตัดไฟเสียแต่ต้นลม ยกตัวอย่างเช่น สถาบันการเงินมักจะรีบติดตามทวงถามลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้โดยเร็วไม่ปล่อยให้ค้างชำระหนี้กันเป็นเวลานานเหมือนสมัยก่อน เพราะหากทิ้งไว้นานลูกหนี้จะรู้สึกว่าไม่อยากที่จะชำระหนี้อีกต่อไป ซึ่งจะทำความเสียหายให้กับหน่วยงานนั้นเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
แต่หน่วยงานขนาดเล็กและธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดย่อมที่ยังไม่มีที่ปรึกษากฎหมายก็มีความเสี่ยงที่จะถูกหลอกลวงหรือฉ้อโกงโดยง่าย หากไม่มีการวางกฏระเบียบ และทำหลักฐานเอาไว้ก็อาจจะไม่สามารถเอาตัวผู้กระทำผิดหรือผู้ที่หลอกลวงให้ถูกลงโทษหรือถูกดำเนินคดีหรือให้ชดใช้ค่าเสียหายได้ ดั้งนั้นหน่วยงานหรือธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมที่ไม่มีที่ปรึกษากฎหมายก็จะเป็นเป้าหมายให้มิจฉาชีพใช้กลอุบายหลอกลวงไปได้ ที่เป็นเช่นนี้นี้เพราะเห็นมาแล้วว่าธุรกิจเล็ก ๆ ก็จะพยายามลดค่าใช้จ่าย และคิดว่าจ้างที่ปรึกษาไว้ไม่จำเป็นและสิ้นเปลือง แต่เมื่อเกิดเหตุขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง ๆ เสียหายมากกว่า มีที่ปรึกษากฎหมายไว้เถอะครับอุ่นใจกว่า เพราะทุกวันนี้โลกเราเปลี่ยนแปลงเร็วเหลือเกินคงจะต้องหาทางตั้งรับให้ทัน

ขอให้โชคดีครับ

วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2553

คดีผู้บริโภคเป็นอย่างไร

เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๑ ได้มีการออกพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค เพื่อให้ความคุ้มครองและความยุติธรรมแก่ผู้บริโภค คดีแบบไหนที่เป็นคดีผู้บริโภค ก็คือต้องเป็นคดีแพ่งที่ผู้บริโภค หรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคได้แก่ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กับผู้ประกอบธุรกิจซึ่งพิพาทเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายอันเนื่องมาจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ คดีแพ่งเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ผู้บริโภคก็คือผู้ซื้อหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจ หรือได้รับการเสนอชักชวนจากผู้ประกอบธุรกิจ รวมถึงผู้ใช้สินค้าหรือได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจโดยไม่ได้เป็นผู้เสียค่าตอบแทนด้วย เช่นเป็นผู้ใช้สินค้าทดลอง หรือใช้บริการที่เป็นโปรโมชั่นฟรี ก็เกี่ยวข้องด้วย ผู้ประกอบธุรกิจก็คือผู้ขาย ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย หรือผู้ซื้อเพื่อจะขายต่อซึ่งสินค้าและบริการ และรวมถึงผู้ประกอบกิจการโฆษณาด้วย การฟ้องคดีผู้บริโภคมีข้อดีคือสามารถฟ้องด้วยวาจาต่อเจ้าพนักงานคดีหรือจะฟ้องเป็นหนังสือก็ได้ เมื่อยื่นฟ้องแล้วศาลจะนัดมาไกล่เกลี่ย และที่สำคัญผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ไม่ต้องเงินค่าธรรมเนียมคือได้รับการยกเว้นค่าขึ้นศาลและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ซึ่งเป็นความประสงค์ในการออกพระราชบัญญัติฉบับนี้เพื่อลดข้อจำกัดของผู้บริโภคให้เข้าถึงความยุติธรรม ส่วนผู้ประกอบธุรกิจจะฟ้องผู้บริโภคต้องเสียค่าขึ้นศาลและค่าธรรมเนียมตามปกติ นอกจากนี้ก็ยังมีความเสียหายที่ไม่เกิดขึ้นในทันทีซึ่งบางที่ต้องใช้ระยะเวลากว่าจะเกิดความเสียหายแก่ ชีวิต ร่างกาย สุขภาพ อนามัย จะแสดงออกมาให้เห็น เช่นได้รับสารพิษจากสินค้าหรือบริการ ดังนี้ก็สามารถเรียกร้องได้ภายใน ๓ ปีนับแต่วันรู้ถึงความเสียหายหรือรู้ตัวผู้รับผิด แต่ต้องไม่เกิน ๑๐ ปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย ดังนั้นผู้บริโภคทั้งหลายที่ได้รับกระทบจากสินค้าหรือบริการ ที่ไม่ปลอดภัย ก็ควรจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้และได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลจึงเป็นโอกาสดีที่ผู้บริโภคจะมาเรียกร้องความยุติธรรมได้ เมื่อเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม
ขอให้ทุกท่านโชคดีครับ