หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2553

ค่าส่วนกลาง เวรหรือกรรมของคนอยู่คอนโด

เหตุที่เขียนเรื่องนี้เพราะมีคนที่รู้จักมักคุ้นกันซื้อคอนโดเอาไว้ แล้วก็เกิดความวิตกกังวลเมื่อเห็นงบดุลของคอนโดที่ซื้อไว้ติดลบอยู่ทุกปีและก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เลยมาปรึกษาผมว่าจะทำอย่างไรดี ผมก็บอกว่าหนี้สินของนิติบุคคลอาคารชุด ผู้เป็นเจ้าของร่วมทุกคนก็ต้องร่วมกันรับผิดตามอัตราส่วนเฉลี่ยของพื้นที่ของแต่ละคนที่เป็นเจ้าของ หากการบริหารงานเป็นไปตามมติของกรรมการนิติบุคคลฯ เมื่อขาดทุนมากๆ นิติบุคคลฯก็คงเลือกที่จะลดรายจ่าย(เช่นลดแม่บ้าน หรือ รปภ ให้น้อยลง) ซึ่งก็คงไม่ดีนักกับผู้อยู่อาศัยในเรื่องความสะอาดและความปลอดภัย กับเลือที่จะขึ้นค่าส่วนกลาง ซึ่งมากเกินไปคนอยู่อาศัยก็มีภาระเพิ่มโดยไม่จำเป็น คอนโดที่ผมเล่าให้ฟังนี้เป็นคอนโดเล็กๆ มี ๒ อาคาร สูง ๕ ชั้น อยู่ติดกัน และมีห้องชุดในคอนโดเพียงอาคารละ ๕๐ กว่าห้อง รวมทั้งสองอาคารร้อยกว่าห้อง เสียค่าส่วนกลางตารางเมตรละ ๒๐ บาท (ถ้าขึ้นราคาจะเป็นตารางเมตรละ ๓๐ บาท) ถ้าห้องขนาด ๓๒ ตารางเมตรก็จะเสียค่าส่วนกลาง ๙๖๐ บาท ซึ่งคนในดอนโดบางคนก็รับได้บางคนก็รับไม่ได้ บางคนที่ซื้อไว้ไม่ได้อยู่ก็อยากจะขายทิ้งให้มันรู้แล้วรู้รอดกันไป บางคนที่ซื้อไว้อยู่เองหลังจากเกษียณและมีรายได้ด้วยเงินบำนาญ แล้วจะต้องมารับค่าใช้จ่ายเพิ่มอีกด้วยแล้วยิ่งน่าเป็นห่วง
ผมได้ลองตรวจดูงบดุลก็ไม่เห็นความผิดปกติหรือความทุจริตเกิดขึ้น แต่พบว่าคอนโดแห่งนี้มีค่าบริหารซึ่งต้องว่าจ้างบริษัทบริหารเดือนละ ๒๐,๐๐๐ บาทต่อ ๑ อาคาร ๒ อาคารก็เป็น ๔๐,๐๐๐ บาท ปีนึงก็เสียค่าบริหารอาคารละ ๒๔๐,๐๐๐ บาท และยังมีเงินเดือนผู้จัดการคอนโดอาคารละ ๕,๐๐๐ บาทต่อเดือน แต่คอนโดแห่งนี้ขาดทุนปีละ ๑๒๐,๐๐๐ บาทต่อ ๑ อาคาร ถ้าหากลดค่าบริหารลงก็คงจะไม่ต้องขึ้นค่าส่วนกลางแต่อย่างใด แต่บริษัทที่รับจ้างบริหารเขาไม่ยอมหรอก เพราะเขาฝังรากมานานและรับมรดกตกทอดมาจากเจ้าของโครงการเดิมและเจ้าของโครงการก็ยังถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดอยู่เยอะ เรียกว่ามีเสียงเป็นกรรมการบริหารอยู่ส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งจะประชุมลงมติแต่ละทีเจ้าของห้องชุดก็ไม่ค่อยให้ความร่วมมือกันซักเท่าไหร่เพราะไม่อยากเสียเวลา ยิ่งบริหารขาดทุนยิ่งต้องโต้เถียงกันนาน
ทางแก้ก็น่าเป็นการบริหารกันเองโดยแต่งตั้งผู้จัดการนิติฯซึ่งเป็บบุคคลธรรมดาซึ่งต้องแต่งตั้งโดยมติที่ประชุมใหญ่ โดยรอให้บริษัทซึ่งเป็นผู้จัดการนิติครบวาระและก็ไม่ต้องต่อสัญญาว่าจ้างกันใหม่ ซึ่งเจ้าของห้องชุดก็คงจะต้องเตรียมล็อบบี้เจ้าของห้องชุดให้ได้เสียงมากเพียงพอก่อน ไม่งั้นคงจะโหวตแพ้เขาแน่ ๆ แต่ถ้าวาระยังอยู่อีกนาน แล้วอึดอัดใจทนไม่ไหวอยากจะเปลี่ยนแปลงเร็ว ๆ ก็คงต้องให้มีการนัดประชุมใหญ่วิสามัญโดยเฉพาะเพื่อนถอดถอนผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด (แต่วิธีนี้จะมีปัญหาเพราะผู้จัดการที่ถูกถอดถอนก็จะไปบริหารอาคารชุดที่อื่นไม่ได้ซึ่งทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันได้) แต่ผู้จัดการนิติชุดเดิมเขารู้ตัวเขาคงเลือกที่จะลาออกมากกว่า เมื่อถอนถอนผู้จัดการนิติฯแล้วก็บรรจุวาระแต่งตั้งผู้จัดการนิติบุคคลคนใหม่เสียในคราวเดียวเลย โดยมติที่ประชุมใหญ่ เท่านี้เองชาวคอนโดก็ไม่ต้องขวัญผวาว่าเมื่อไหร่จะขึ้นค่าส่วนกลางอีกต้องร่วมมือกันนะครับ คอนโดของเราบ้านของเราๆต้องช่วยกัน หากผู้อ่านมีปัญหาที่คล้าย ๆ กันนี้อยากจะปรึกษาหาวิธีแก้ไข หรือหาผู้จัดการบริหารที่ไว้วางใจได้และไม่ต้องเสียค่าบริหารจัดการในรูปบริษัทซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงผมก็ยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือครับ

วันเสาร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2553

งานที่ปรึกษากฎหมาย กันไว้ดีกว่าแก้

ในยุคสมัยนี้ หน่วยงานธุรกิจองค์กรเอกชนทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลาง ต่างก็จะต้องหาที่ปรึกษากฎหมายมาประจำหน่วยงานหรือองค์กรนั้น ๆ เพื่อให้คำแนะนำข้อคิดเห็นขององค์กรหรือหนวยงานนั้น ๆ ในด้านกฎหมาย ให้คำแนะนำเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และเอกสารทางกฎหมายต่าง ๆ ตี ความเรื่องสิทธิหน้าที่และข้อผูกพันทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของหน่วยงานนั้น ให้ผู้บริหารหน่วยงานระดับสูงทราบ ซึ่งที่ปรึกษากฎหมายต้องมีความชำนาญและเชี่ยวชาญในอาชีพ เช่นมีประสบการณ์ในการว่าความเป็นทนายมานาน เป็นอาจารย์สอนกฎหมาย หรือเป็นอดีตตุลาการมาก่อน และต้องเป็นผู้ที่หน่วยงานหรือองค์กรเหล่านั้นไว้วางใจด้วย ซึ่งต้องมีความรอบรู้เกี่ยวกับกฎหมายด้านต่าง ๆ และต้องรู้ลึกรู้จริงในด้านกฎหมายเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานหรือองค์กรที่ไปให้คำปรึกษาด้วย ที่เป็นเช่นนี้เพราะหน่วยงานหรือองค์กรขนาดใหญ่และขนาดกลางเหล่านี้ ต้องการความมั่นใจและความแน่นอนในการประกอบธุรกิจ ทั้งยังป้องกันความผิดพลาดอันอาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งก็เป็นป้องกันไว้ก่อน กันไว้ดีกว่าแก้ครับไงครับ เพราะได้อาศัยที่ปรึกษากฎหมายเหล่านี้ช่วยตรวจสอบลูกค้า หรือสัญญาที่หน่วยงานหรือองค์กรจะต้องทำกับบุคคลอื่นว่าสมควรค้าขายหรือทำธุรกิจร่วมกันได้ไหม หรือมีความไม่ชอบมาพากลแอบแฝงอยู่หรือไม่จะได้ตัดไฟเสียแต่ต้นลม ยกตัวอย่างเช่น สถาบันการเงินมักจะรีบติดตามทวงถามลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้โดยเร็วไม่ปล่อยให้ค้างชำระหนี้กันเป็นเวลานานเหมือนสมัยก่อน เพราะหากทิ้งไว้นานลูกหนี้จะรู้สึกว่าไม่อยากที่จะชำระหนี้อีกต่อไป ซึ่งจะทำความเสียหายให้กับหน่วยงานนั้นเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
แต่หน่วยงานขนาดเล็กและธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดย่อมที่ยังไม่มีที่ปรึกษากฎหมายก็มีความเสี่ยงที่จะถูกหลอกลวงหรือฉ้อโกงโดยง่าย หากไม่มีการวางกฏระเบียบ และทำหลักฐานเอาไว้ก็อาจจะไม่สามารถเอาตัวผู้กระทำผิดหรือผู้ที่หลอกลวงให้ถูกลงโทษหรือถูกดำเนินคดีหรือให้ชดใช้ค่าเสียหายได้ ดั้งนั้นหน่วยงานหรือธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมที่ไม่มีที่ปรึกษากฎหมายก็จะเป็นเป้าหมายให้มิจฉาชีพใช้กลอุบายหลอกลวงไปได้ ที่เป็นเช่นนี้นี้เพราะเห็นมาแล้วว่าธุรกิจเล็ก ๆ ก็จะพยายามลดค่าใช้จ่าย และคิดว่าจ้างที่ปรึกษาไว้ไม่จำเป็นและสิ้นเปลือง แต่เมื่อเกิดเหตุขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง ๆ เสียหายมากกว่า มีที่ปรึกษากฎหมายไว้เถอะครับอุ่นใจกว่า เพราะทุกวันนี้โลกเราเปลี่ยนแปลงเร็วเหลือเกินคงจะต้องหาทางตั้งรับให้ทัน

ขอให้โชคดีครับ

วันศุกร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2553

คดีผู้บริโภคเป็นอย่างไร

เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๑ ได้มีการออกพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค เพื่อให้ความคุ้มครองและความยุติธรรมแก่ผู้บริโภค คดีแบบไหนที่เป็นคดีผู้บริโภค ก็คือต้องเป็นคดีแพ่งที่ผู้บริโภค หรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคได้แก่ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กับผู้ประกอบธุรกิจซึ่งพิพาทเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายอันเนื่องมาจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ คดีแพ่งเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ผู้บริโภคก็คือผู้ซื้อหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจ หรือได้รับการเสนอชักชวนจากผู้ประกอบธุรกิจ รวมถึงผู้ใช้สินค้าหรือได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจโดยไม่ได้เป็นผู้เสียค่าตอบแทนด้วย เช่นเป็นผู้ใช้สินค้าทดลอง หรือใช้บริการที่เป็นโปรโมชั่นฟรี ก็เกี่ยวข้องด้วย ผู้ประกอบธุรกิจก็คือผู้ขาย ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย หรือผู้ซื้อเพื่อจะขายต่อซึ่งสินค้าและบริการ และรวมถึงผู้ประกอบกิจการโฆษณาด้วย การฟ้องคดีผู้บริโภคมีข้อดีคือสามารถฟ้องด้วยวาจาต่อเจ้าพนักงานคดีหรือจะฟ้องเป็นหนังสือก็ได้ เมื่อยื่นฟ้องแล้วศาลจะนัดมาไกล่เกลี่ย และที่สำคัญผู้บริโภคอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ไม่ต้องเงินค่าธรรมเนียมคือได้รับการยกเว้นค่าขึ้นศาลและค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ซึ่งเป็นความประสงค์ในการออกพระราชบัญญัติฉบับนี้เพื่อลดข้อจำกัดของผู้บริโภคให้เข้าถึงความยุติธรรม ส่วนผู้ประกอบธุรกิจจะฟ้องผู้บริโภคต้องเสียค่าขึ้นศาลและค่าธรรมเนียมตามปกติ นอกจากนี้ก็ยังมีความเสียหายที่ไม่เกิดขึ้นในทันทีซึ่งบางที่ต้องใช้ระยะเวลากว่าจะเกิดความเสียหายแก่ ชีวิต ร่างกาย สุขภาพ อนามัย จะแสดงออกมาให้เห็น เช่นได้รับสารพิษจากสินค้าหรือบริการ ดังนี้ก็สามารถเรียกร้องได้ภายใน ๓ ปีนับแต่วันรู้ถึงความเสียหายหรือรู้ตัวผู้รับผิด แต่ต้องไม่เกิน ๑๐ ปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย ดังนั้นผู้บริโภคทั้งหลายที่ได้รับกระทบจากสินค้าหรือบริการ ที่ไม่ปลอดภัย ก็ควรจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้และได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลจึงเป็นโอกาสดีที่ผู้บริโภคจะมาเรียกร้องความยุติธรรมได้ เมื่อเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม
ขอให้ทุกท่านโชคดีครับ

วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ถูกฟ้องล้มละลายควรทำอย่างไร

ในระยะนี้ผมไปกรมบังคับคดีแล้ว เห็นบรรดาลูกหนี้ถูกฟ้องล้มละลายกกันมาก เห็นลูกหนี้ที่ถูกฟ้องล้มละลายส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลางเป็นลูกจ้างบริษัทบ้าง ข้าราชการบ้าง คนค้าขายบ้าง เห็นแล้วก็น่าเป็นห่วง เพราะมีการฟ้องคดีล้มละลายในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาปีละประมาณสองหมื่นกว่าคดี ส่วนใหญ่ก็เป็นลูกหนี้สถาบันการเงินที่ซื้อที่อยู่อาศัยเป็นส่วนใหญ่เมื่อผ่อนไม่ไหว ก็โดนยึดทรัพย์ขายทอดตลาดขายแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ บุคคลธรรมดามีหนี้เหลือตั้งแต่หนึ่งล้านบาทขึ้นไปถ้าเป็นนิติบุคคลก็ตั้งแต่สองล้านบาทขึ้นไป ก็จะถูกนำมาฟ้องเป็นคดีล้มละลาย เพื่อสถาบันการเงินจะได้ตัดหนี้สูญต่อไปจึงจำเป็นต้องนำมาฟ้องเป็นคดีล้มละลายต่อไป
แต่ลูกหนี้ที่ถูกฟ้องล้มละลายนี่ซิจะต้องทำอย่างไรถ้าหากไม่มีทรัพย์สินอะไรให้ยึดไม่ต้องกลัวอะไร แต่ก็มีบางอาชีพเช่นข้าราชการหรือพนักงานบริษัทใหญ่ ๆ ที่กำหนดคุณสมบัติไว้ว่าห้ามบุคคลล้มละลายทำ หากเป็นเช่นนี้ก็ต้องใช้การเจรจาเพื่อขอประนอมหนี้ซึ่งทำได้ทั้งก่อนและหลังล้มละลาย ซึ่งอาจต้องเสนอเงินจำนวนหนึ่งเพื่อใช้หนี้ให้กับเจ้าหนี้อาจจะเป็นยี่สิบสามสิบเปอร์เซนต์เมื่อเจ้าหนี้พอใจก็จะถอนคำขอรับชำระหนี้ให้แต่ถ้ามีเจ้าหนี้รายรายก็ต้องเสนอคำขอประนอมหนี้ทุกราย ถ้าเจ้าหนี้ยินยอมเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็จะทำความเห็นเสนอศาลให้ยกเลิกล้มละลาย
แต่ถ้าไม่มีทรัยพย์สินอะไรและก็ไม่ได้ประกอบอาชีพที่ห้ามบุคคลล้มละลายทำ เช่นค้าขาย เกษตร รับจ้างทั่ว ๆไป ที่เป็นงานอิสระไม่ได้เป็นลูกจ้างใคร ก็ไม่ต้องวิตกอะไรเพียงแต่ทำตามที่กฎหมายกำหนดหากมีหมายเรียกให้ไปให้ถ้อยคำหรือให้ส่งรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินสมุดบัญชี ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ไปตามนัดจะได้ปลดจากล้มละลายเร็ว ๆ แค่ ๓ ปี นับแต่วันที่ศาลพิพากษาให้ล้มละลายก็กลับกลายมาเป็นคนใหม่เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นหนี้สินที่มีมาก่อนที่ถูกฟ้องล้มละลายก็พลอยหมดไปด้วยแต่ถ้าจำเป็นจะต้องเดินทางไปต่างประเทศก็ต้องขออนุญาตเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก่อนถึงจะไปได้ แต่ถ้าหากไม่ไปตามหมายนัดหรือหมายเรียก ก็จะถือว่าไม่ให้ความช่วยเหลือเจ้าพนักงานทำให้ระยะเวลาจะปลดจากล้มละลายบวกเพิ่มไปอีก ๒ ปี รวมเป็น ๕ ปี ซึ่งผู้อ่านมีความสงสัยหรือต้องการจะสอบถามเกี่ยวกับคดีล้มละลายก็สอบถามได้ ยินดีตอบคำถามทุกข้อสงสัยครับ

วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ตั๋วทนายกับจริยธรรมนักกฎหมาย

เห็นน้อง ๆ ที่เรียนจบนิติศาสตร์ใหม่ ๆ และอยากได้ตั๋วทนายซึ่งเดี๋ยวนี้ก็สอบได้ยากเหลือเกินไม่รู้เพราะอะไร แต่ก็ต้องทำใจเพราะเรียนจบกันมาเยอะมีทั้งสถาบันของรัฐ ของเอกชน รวมทั้งสถาบันราชภัฏเองก็เปิดสอนด้วย จึงจบออกมามากทำให้ล้นตลาดไม่เหมือนสมัยผมจบใหม่ ๆ มีคนจบไม่มาก จบแล้วก็ไปประกอบอาชีพด้านอื่นกันมากเพราะมีงานรองรับเยอะที่เหลือมาประกอบวิชาชีพทนายความจริง ๆ จึงไม่มากและบางคนก็เป็นทนายเพื่อรอสอบอัยการ หรือผู้ช่วยผู้พิพากษาอีก งานในตอนนั้นก็มากเรียกได้ว่าเป็นเวลาทำงานมาเกือบ ๒๐ ปีแล้วงานก็ยังไม่หมด มาระยะหลัง ๒-๓ ปีนี้ รู้สึกว่างานจะลดน้อยถอยลงเป็นอันมาก เห็นมีแต่คดีของศาลแขวงซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีบัตรเครดิตของสถาบันการเงินเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็เป็นการทำงานที่รวบรัดทนายความจึงได้ค่าว่าความน้อยและต้องทำคดีในปริมาณมาก แถมยังต้องรับความเสี่ยงในกรณีที่เกิดผิดพลาดอีก ซึ่งดูแล้วไม่คุ้มค่าแต่ก็ไม่มีทางเลือกเพราะเพียงเพื่อต้องการรายได้เพื่อการยังชีพ คดีที่มีมากอีกจำพวกหนึ่งก็คือล้มละลายเมื่อปีที่ผ่านมาปี พ.ศ.๒๕๕๒ มีการฟ้องคดีล้มละลายมากถึงสองหมื่นกว่าเรื่อง แต่มาปี พ.ศ.๒๕๕๓ นี้ คดีลดลงกว่าครึ่งและในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ก็คงจะเกือบหมดแล้ว เพราะคดีเหล่านี้เป็นผลมาจากคดีแพ่งที่ฟ้องบังคับคดีแล้วเหลือเงินไม่พอชำระหนี้ เมื่อมีหนี้เหลือเกินหนึ่งล้านบาทโจทก์ซึ่งส่วนใหญ่คือสถาบันการเงินจึงต้องรีบฟ้องก่อนที่จะขาดอายุความ คดีอีกประเภทหนึ่งที่เห็นว่ามีมากก็คือคดีอาญาซึ่งหากไปดูที่บอร์ดประกาศของแต่ละศาลจะเห็นว่ามีคดีอาญามากกว่าแพ่งซึ่งไม่เหมือนสมัยก่อนที่มีคดีแพ่งมากกว่าคดีอาญา
ดังนั้นน้อง ๆ ที่จบกฎหมายและได้ตั๋วทนายมาใหม่ ๆ ก็ควรจะฝึกฝนที่จะประกอบอาชีพที่เน้นความถนัดเฉพาะด้านหรือด้านที่ตลาดมีความต้องการเช่น ด้านคดีอาญาซึ่งก็ต้องใช้เวลาฝึกฝนอีกเป็นเวลานาน และก็มีคดีของศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้าซึ่งก็มีแนวโน้มที่จะมีคดีเพิ่มมากขึ้นทุกวันเป็นลำดับ นอกจากนี้ก็ยังมีคดีของศาลปกครองอีกซึ่งนับวันก็จะเพิ่มมากขึ้นและคดีภาษีอากรอีกซึ่งยังมีคนทำน้อย และที่เห็นว่าจะมากที่สุดก็คือคดีผู้บริโภค ซึ่งกฎหมายได้ช่วยเหลือผู้บริโภคให้ฟ้องโดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมอะไร จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งทนายความควรขวนขวายหามาทำให้มาก ๆ เนื่องจากมีปัญหาระหว่างผู้ประกอบการกับผู้บริโภคมาก แต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมจึงไม่อยากจะฟ้องร้องก็เป็นหน้าที่ของทนายความที่จะต้องเข้าไปแนะนำเพื่อความเป็นธรรมของสังคมส่วนหนึ่งด้วย
ถึงแม้ว่าการสอบตั๋วทนายสมัยนี้จะยาก แต่ถ้าได้ฝึกงานในสำนักงานที่มีคดีหลากหลายให้ทำและตั้งใจฝึกอย่างจริงจัง ก็คงจะสอบผ่านได้ไม่ยากหรอกเมื่อได้ตั๋วทนายมาแล้วก็เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น แต่เรื่องที่สำคัญไปกว่านั้นคือจะดำเนินชีวิตอย่างไรให้มีศักดิ์ศรีสมกับเกียรติแห่งการป็นนักกฎหมาย ซึ่งก็คือ ๑)มีสัจจะพูดคำให้คำนั้นไม่เปลียนกลับไปกลับมาและมีเหตุมีผล ๒)การใช้จ่ายต้องไม่สุรุ่ยสุร่ายแต่ก็ไม่ต้องถึงกับอัตคัตขัดสน ให้เหมาะสมกับนักกฎหมายที่มีภูมิความรู้ ๓)ต้องขวนขวายศึกษาหาความรู้
ใหม่ ๆ อยู่เสมอทั้งในด้านกฎหมายและความรู้ด้านอื่น ๆ ด้วย ให้มีความรู้ทัดเทียมนักกฎหมายอื่น ๆ เช่นอัยการ หรือผู้พิพากษา หากทำได้เช่นนี้ทนายความก็จะมีเกียรติที่ผู้คนจะยกย่องไม่มองในแง่ลบและสังคมจะให้การยอมรับวิชาชีพนี้อย่างจริงใจ ขอให้น้อง ๆ ที่จบกฎหมายประสบความสำเร็จและโชคดีทุกคนครับ

วันอังคารที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2553

หนี้บัตรเครดิตเคลียร์ได้จะได้ไม่ติดบูโร


หนี้บัตรเครคิตเคลียร์ได้จะได้ไม่ติดบูโรเป็นเรื่องที่จะคุยกันในวันนี้ เห็นคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้แล้วมีชีวิตอยู่ด้วยเงินพลาสติก ต้องเอาเงินในอนาคตมาใช้ก่อนทั้ง ๆ ที่อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ต้องเอาบัตรใหม่ไปใช้หนี้บัตรเก่าวนเวียนไปเป็นงูกินหาง แถมต้องเสียดอกเบี้ยอัตรามหาโหดซึ่งสามารถเรียกได้เพราะกฎหมายให้อำนาจให้กับสถาบันการเงินหรือบริษัทเงินด่วนทั้งหลายแต่บุคคลทั่วไปทำไม่ได้ ความจริงแล้วคนเราควรจะใช้บัตรเครดิตในเรื่องจำเป็นจริง ๆ เช่น ใช้ซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น และก็จะต้องชำระหนี้ให้หมดในรอบบัญชีถัดไป หากผ่อนชำระก็จะมีดอกเบี้ย หากเป็นของชิ้นใหญ่ ๆ ก็ควรเก็บเงินให้ครบแล้วจึงจะซื้อ ก็จะไม่ต้องเป็นหนี้เป็นสินให้ปวดหัวที่เล่ามานี้เพราะเคยอยู่ในวังวนแห่งหนี้เช่นนี้มาก่อนแต่ก็ผ่านพ้นมาแล้ว ทุกวันนี้ใช้เงินเท่าที่มี มีเงินแล้วจึงซื้อ ไม่ก่อหนี้ ไม่สร้างหนี้ เท่านี้ชีวิตก็มีความสุขแล้ว

ถ้าหากท่านเป็นหนี้แล้วจะต้องทำอย่างไร ถ้าเป็นหนี้หลายหนี้ก็ควรเคลียร์หนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุดก่อน และต้องอดทนชำระหนี้เก่าให้หมดก่อนอย่ารีบไปก่อหนี้ใหม่เพิ่ม แต่ถ้าหากถึงขั้นถูกฟ้องเป็นคดีต่อศาลแล้วควรจะทำอย่างไร ก็ต้องดูคำฟ้องก่อนว่าเป็นอย่างไร ดูว่ามีการใช้จ่ายเงินครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ หรือมีการ ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ คือดูว่ามีการเคลื่อนไหวทางบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่นับบจากที่มีการเคลื่อนไหวบัญชีครั้งสุดท้าย หากเกินกว่า ๒ ปี ก็ถือว่าขาดอายุความแล้ว แต่ว่าอยู่เฉย ๆ ไม่ได้นะครับต้องทำให้การแก้คดีว่าคดีขาดอายุความ หากทำไม่ได้ก็ควรปรึกษาทนายความ เพราะศาลจะไม่หยิบยกเรื่องที่ขาดอายุความขึ้นมาเอง เพราะถือเป็นปัญหาเรื่องความสงบฯ จึงต้องยื่นคำให้การไว้ศาลจึงพิพากษาว่าคดีขาดอายุความได้ หมายความว่าหนี้ที่มีก็เป็นศูนย์บาทเลยไม่ต้องใช้หนี้นี่คือในแง่กฎหมายแต่ในแง่ศีลธรรมก็คงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หากหนี้บัตรเครดิตไม่เกิน ๒ ปี ก็คงต้องเจรจาเพื่อขอประนอมหนี้ขอลดยอดหนี้ขอลดดอกเบี้ยขอผ่อนการชำระหนี้ซึ่งส่วนใหญ่สถาบันการเงินก็จะยอมลดหนี้ให้เพราะเป็นหนี้ไม่มีหลักประกัน โดยจะดูยอดจากต้นเงินที่ค้างบวกดอกเบี้ยอีกนิดหน่อยก็จะยอมเพราะที่ผ่านมาคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมาโดยตลอด ส่วนปัญหาทางเทคนิคเช่นยื่นคำให้การอย่างไร ต่อรองอย่างไรจะให้ลดยอดหนี้ได้มาก ๆ หากไม่สัดทัดหรือไม่มีเวลาที่จะไปศาลก็ควรให้ทนายความทำหน้าที่แทนให้ จะได้ไม่ต้องมีชื่อติดแบล๊คลิสในเครดิตบูโร ขอเป็นกำลังใจให้กับคนที่เป็นหนี้ทุกคนให้ผ่านพ้นสภาวะเช่นนี้ไปโดยเร็วขอเอาใจช่วยครับ