หน้าเว็บ

วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554

คดีลิขสิทธิ์ ใช้เพื่อการศึกษาไม่หากำไรไม่ละเมิดลิขสิทธิ์

พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ มาตรา ๓๒ การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นตามพระราชบัญญัตฺนี้ หากไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
ภายใต้บังคับบทบัญญัติในวรรคหนึ่ง การกระทำแก่งานอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามวรรคหนึ่งมิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
(๑) วิจัยหรือศึกษางานนั้น อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
---------------------------------------------------

ฎ.๑๗๓๒/๒๕๔๓ จำเลยมีอาชีพรับจ้างถ่ายเอกสาร ได้นำเครื่องถ่ายเอกสารทำสำเนาจากต้นฉบับหนังสือ ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งสาม แล้วเข้าเล่มจำนวน ๗๑ เล่ม ยังไม่เข้าเล่ม ๒๙๐ ชุด เอกสารเป็นแผ่น ๑๕๘ ชุด จำเลยต่อสู้ว่าจำเลยรับจ้างถ่ายเอกสารตามคำสั่งของนักศึกษาผู้ว่าจ้างที่นำไปใช้เพื่อการศึกษาและวิจัย จึงได้รับการยกเว้นมิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องนำสืบพิสูจน์ตามข้อกล่าวอ้างข้างต้น แต่จำเลยไม่มีหลักฐานมาแสดงให้เห็นได้ว่ามีนักศึกษามาว่าจ้างให้จำเลยถ่ายเอกสารสำเนาของกลาง เพื่อนำไปใช้ในการศึกษาหรือวิจัยอันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร พยานหลักฐานของจำเลยคงมีจำเลยปากเดียวเบิกความว่า จำเลยรับจ้างนักศึกษาถ่ายสำเนาเอกสารของกลาง โดยไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการว่าจ้างและนักศึกษาที่ว่าจ้าง จึงเป็นเพียงคำเบิกความลอยๆไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเข้าเงื่อนไขแห่งข้อยกเว้นความรับผิดดังที่จำเลยอ้าง จำเลยจึงมีความผิดฐานทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ร่วมทั้งสามตามฟ้อง

จากคำพิพากษาดังกล่าวจะเห็นว่าจำเลยไม่มีพยานมาเบิกความอ้างอิงยืนยันว่ามีนักศึกษาใครบ้างที่มาจ้างให้ถ่ายสำเนาเอกสารดังกล่าวเมื่อวันเวลาใด จำนวนคนละกี่ชุด และมีค่าจ้างชุดละเท่าไร ก็จะพอมีน้ำหนักว่ารับจ้างถ่ายเอกสารให้แก่นักศึกษาเพื่อนำไปใช้ในการศึกษา แต่ปริมาณการถ่ายไว้เป็นจำนวนมากเข้าเล่มแล้ว ๗๑ เล่ม ยังไม่เข้าเล่ม ๒๙๐ ชุด และเอกสารเเป็นแผ่นอีก ๑๕๘ ชุด ก็คงจะหาพยานมายืนยันว่าเป็นผู้ว่าจ้างให้ถ่ายเอกสารทั้งหมดคงจะยาก แต่ถ้าหากมีพยานมายืนยันและมีหลักฐานยืนยันมีตัวตนที่แน่นอนว่าใครบ้างเป็นผู้ว่าจ้างให้ถ่ายเอกสารทั้งหมดผลของคำพิพากษาคงจะต่างไปจากนี้ ดูจากพฤติการณ์แล้วจำเลยคงจะถ่ายเอกสารและเข้าเล่มไว้เพื่อจำหน่ายให้แก่นักศึกษาแต่ยังไม่มีการจำหน่ายออกไปตรงนี้จึงยังไม่ชี้ชัดว่าเพื่อแสวงหากำไร คำพิพากษาของศาลจึงออกมาในแนวทางดังกล่าวข้างต้น

วันอังคารที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554

คดีรับเหมาก่อสร้าง ต้องเตรียมอะไรบ้างถ้าจะฟ้องคดี

คดีรับเหมาก่อสร้าง อาจเป็นคดีจ้างแรงงานหรือจ้างทำของก็ได้ ถ้าจ้างเป็นค่าแรงอย่างเดียวไม่รวมค่าวัสดุก็เป็นจ้างแรงงาน ถ้าจ้าเหมารวมทั้งค่าแรงและค่าวัสดุด้วยก็เป็นจ้างทำของ ปัญหาในคดีรับเหมาก่อสร้างก็อาจเกิดขึ้นได้ทั้งที่เป็นความผิดอันเกิดจากฝ่ายผู้ว่าจ้างเองหรือเกิดจากความผิดอันเกิดจากผู้รับจ้างหรือผู้รับเหมานั่นเอง แต่สิ่งสำคัญที่จะทำไปสู่การแพ้ชนะในคดีก็คือพยานหลักฐานที่ได้เก็บรวบรวมไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตลอดจนถึงมาตราฐานในการก่อสร้างตามหลักวิศวกรรมซึ่งต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญทางวิศวกรรมหรือทางสถาปัตยกรรมเป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องอีกทางหนึ่งด้วย

ความผิดอันเกิดจากฝ่ายผู้ว่าจ้างเองก็จะเป็นจำพวกชอบเปลี่ยนใจบ่อยเปลี่ยนแปลงแก้ไขอยู่ตลอด เช่นเปลี่ยนแปลงวัสดุที่ใช้ต้องการใช้วัสดุพิเศษซึ่งหายากหรือมีราคาแพงหรือแม้กกระทั่งจัดหาวัสดุมาเองเป็นบางส่วน บ้างก็ชอบแก้ไขเพิ่มหรือลดหรือตัดทอนเปลี่ยนแปลงแก้ไขแบบอยู่ตลอด ทำให้เกิดปัญหากับฝ่ายผู้รับจ้างหรือผู้รับเหมาทำให้ไม่สามารถทำงานได้เสร็จตามเวลาที่กำหนด ต้องเสียค่าแรงเพิ่ม ต้องเสียค่าปรับกรณีก่อสร้างล่าช้า และไม่สามารถคำนวณค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายที่แท้จริงออกมาได้ ซึ่งการข้อแก้ไขให้ผิดไปจากแบแปลนเดิมที่ได้ออกแบบไว้ไม่ว่าจะเป็นปรับเพิ่มหรือปรับลดหรือเปลี่ยนแปลงวัสดุทุกครั้งจะต้องมีการคำนวณต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ปรับเพิ่มหรือปรับลดตลอดจนระยะเวลาการทำงานที่ต้องเพิ่มขึ้นจากเดิมซึ่งต้องขอขยายระยะเวลาการทำงานไปด้วยโดยทำเป็นหนังสือหลักฐานแจ้งให้ผู้ว่าจ้างเซ็นรับทราบทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข รวมถึงรูปถ่ายขั้นตอนในการทำงานในแต่ละขั้นตอนรวบรวมเอาไว้และต้องเก็บใบเสร็จรับเงินค่าวัสดุอุปกรณ์ทุกใบรวมถึงบิลค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่นค่านำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หรือค่าจ้างพิเศษอื่น ๆที่นอกเหนือไปจากนี้ต้องเก็บไว้ให้หมด เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นหากผู้ว่าจ้างจะหาเหตุที่จะไม่ยอมจ่ายเงินโดยอ้างว่าผู้รับจ้างผิดสัญญาก่อสร้างไม่เป็นไปตามแบบหรือก่อสร้างล่าช้า

ความผิดอันเกิดจาฝ่ายผู้รับจ้างหรือผู้รับเหมา โดยมากก็ไม้พ้นรับเงินไปแล้วไม่ทำงาน ทิ้งงานหนีไป หรือทำงานไม่เสร็จตากำหนด เบิกเงินไปมากกว่าที่จะทำจริงและใช้เงินหมดทำให้ไม่สามารถทำงานต่อไปได้ หรือทำงานไม่ได้มาตราฐานใช้แรงงานฝีมือต่ำงานที่ทำออกมาก็จะไม่ได้มาตราฐานซึ่งตรงนี้ต้องวัดด้วยหลักทางวิศวกรรมกรรมและสถาปัตยกรรม ก่อนที่จะว่าจ้างจึงต้องขอดูผลงานเก่า ๆ ที่ผู้รับจ้างหรือผู้รับเหมาเคยทำไว้ว่ามีผลงานมากน้อยแค่ไหนมีฝีมือเพียงใด นอกจากนี้ผู้ว่าจ้างต้องเตรียมในเรื่องสัญญาการก่อสร้างต้องร่างสัญญาให้รัดกุมและควบคุมการเบิกจ่ายเงินให้เป็นไปในแต่ละงวดงาน หรือประเมินจากผลงานว่าทำไปได้กี่เปอร์เซ็นต์ ไม่จ่ายมากไปจนเกินจริงและต้องตรวจสวบผลงานโดยตลอดหากเห็นว่าไม่เป็นไปตามแบบหรือตามข้อตกลงก็ต้องไม่เซ็นรับมอบงานในงวดงานนั้น ๆ จนกว่าจะมีการแก้ไขให้เรียบร้อย รวมถึงต้องเก็บหลักฐานรูปถ่ายขั้นตอนการทำงานรวบรวมเอาไว้รวมถึงใบเสร็จรับเงินหรือสำเนาใบเสร็จที่จ่ายเงินหลักฐานการรับเงินแต่ละครั้งรวบรวมเอาไว้ ก็จะเป็นประโยชน์หากภายหลังจะต้องมีการฟ้องคดี

วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2554

คดีที่ดิน กรรมสิทธิ์รวม มรดก สละมรดก

ผู้ที่มีชื่อในเอกสารสิทธิ์ เช่นโฉนดที่ดินหรือ นส.๓ก. ถ้าไม่ได้ระบุว่าผู้ถือกรรมสิทธิ์กันคนละกี่ส่วนกฎหมายให้สันนิษฐานว่าถือว่ากันคนละส่วน เท่า ๆ กัน เช่นมีชื่อนาย ก.และนาย ข.ก็จะมีสิทธิคนละครึ่ง ถ้ามี ๓ คน ก็เฉลี่ยหารสาม ได้คนละส่วนเท่า ๆ กัน
เขียนถึงเรื่องนี้ เพราะนึกถึงคดีหนึ่งที่ผมเคยทำนานมาแล้ว คดีนี้สมมุติว่ามีนางทองเป็นเจ้ามรดก มีที่ดิน ๑ แปลงเป็น นส. ๓ก. เมื่อนางทองตาย มรดกย่อมตกทอดแก่ทายาท นางทองมีบุตร ๕ คนคือ นาง ก. นาย ข. นางค. นาง ง. และนาง จ. แต่นาย ข.ตายก่อนนางทอง นายข. มีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายคือนาง แดง มีบุตรด้วยกัน ๑ คน ชื่อเด็กหญิงอ้อย อายุ ๒ ขวบ บุตรของนาย ข. จึงเป็นผู้รับมรดกแทนที่ นาง ก. ไปขอรับมรดกนางทองในฐานะทายาท โดยนาง ค. นาง ง. และนาง จ. ได้ทำหนังสือสละมรดกทั้งสามคน เนื่องจากนาง ก. มีบุญคุณกับทั้งสามคนนี้ โดยนาง ก.เข้าใจว่าเมื่อสละมรดกแล้ว มรดกส่วนของบุคคลทั้งสามที่สละจะตกเป็นของตนทั้งหมด ซึ่งตามกฎหมายการสละมรดกเป็นการสละไปเลยโดยเด็ดขาดผู้สละมรดกไม่มีสิทธิจะเอามรดกไปยกให้กับใครได้อีก แต่เด็กหญิงอ้อยบุตรของนาย ข. กับนางแดง ไม่สามารถสละมรดกได้เนื่องจากเป็นผู้เยาว์ เจ้าพนักงานที่ดินจึงใส่ชื่อ นาง ก.และเด็กหญิงอ้อย เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ โดยไม่ได้ระบุว่ามีสิทธิถือครองคนละเท่าไร
ต่อมาอีก ๑๓ ปี นางก.ได้ไปบอกนางแดงมารดาเด็กหญิงอ้อยปัจจุบันเป็น น.ส.อ้อย ว่าจะขายที่ดินและมีผู้มาทำสัญญาจะซื้อจะขายตกลงราคาขายที่ ๕ ล้านบาท และได้วางมัดจำไว้ ๑ ล้านบาท นาง ก.จึงแบ่งเงินให้นางแดงมารดา น.ส.อ้อย ๒ แสนบาทด้วยเข้าใจว่า น.ส.อ้อย มีส่วนในที่ดินเพียง ๑ ใน ๕ ส่วน ต่อมาผู้ซื้อไม่มาวางเงินตามสัญญา ซึ่งเท่ากับผิดสัญญา และสามารถริบมัดจำได้ นางแดงมารดาน.ส.อ้อยต้องการเงินอีก ๘ แสน จึงไปขอส่วนที่เหลือจากนาง ก. นาง ก.อ้างว่าผู้จะซื้อไม่มาวางเงินต้องรอไปก่อนถ้าอยากได้ให้ไปฟ้องคดีเอาเอง
นางแดงมาปรึกษาผมว่าจะทำอย่างไร ผมจึงแนะนำว่าถ้าจะฟ้องขอเงินส่วนที่เหลืออีก ๘ แสนก็ไม่ได้เพราะนาง ก.ไม่ใช่คู่สัญญาจะซื้อจะขายกับนางแดง และต้องเสียค่าธรรมเนียมอย่างคดีมีทุนทรัพย์ แต่สิทธิของน.ส.อ้อย คือมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับนาง ก. ผมจึงฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์ครึ่งหนึ่ง ซึ่งเสียค่าขึ้นศาลเพียง ๒๐๐ บาท แต่นาง ก. ให้การต่อสู้และฟ้องแย้งเรื่องกรรมสิทธิ์ นาง ก.จึงต้องเสียค่าธรรมเนียมตามทุนทรัพย์ที่ฟ้องแย้ง เมื่อสืบพยานโจทก์คือฝ่ายนางแดงมารดา น.ส.อ้อยเสร็จ ทนายจำเลยคือฝ่ายนาง ก. ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความจ่ายเงิน ๘ แสนบาทให้แก่นางแดงมารดาของ น.ส.อ้อย เพราะกลัวจะเสียที่ดินครึ่งหนึ่งของทั้งหมดไม่ใช่ ๑ ใน ๕ ส่วน อย่างที่ตนคิด นางแดงจึงได้เงิน ๘ แสนบาทตามที่ปรารถนาและโอนที่ดินส่วน น.ส.อ้อยให้กับนาง ก. ไป นี่คือผลของข้อสัญนิษฐานของกฎหมายนี้