หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2554

คดีที่ดิน กรรมสิทธิ์รวม มรดก สละมรดก

ผู้ที่มีชื่อในเอกสารสิทธิ์ เช่นโฉนดที่ดินหรือ นส.๓ก. ถ้าไม่ได้ระบุว่าผู้ถือกรรมสิทธิ์กันคนละกี่ส่วนกฎหมายให้สันนิษฐานว่าถือว่ากันคนละส่วน เท่า ๆ กัน เช่นมีชื่อนาย ก.และนาย ข.ก็จะมีสิทธิคนละครึ่ง ถ้ามี ๓ คน ก็เฉลี่ยหารสาม ได้คนละส่วนเท่า ๆ กัน
เขียนถึงเรื่องนี้ เพราะนึกถึงคดีหนึ่งที่ผมเคยทำนานมาแล้ว คดีนี้สมมุติว่ามีนางทองเป็นเจ้ามรดก มีที่ดิน ๑ แปลงเป็น นส. ๓ก. เมื่อนางทองตาย มรดกย่อมตกทอดแก่ทายาท นางทองมีบุตร ๕ คนคือ นาง ก. นาย ข. นางค. นาง ง. และนาง จ. แต่นาย ข.ตายก่อนนางทอง นายข. มีภรรยาที่ชอบด้วยกฎหมายคือนาง แดง มีบุตรด้วยกัน ๑ คน ชื่อเด็กหญิงอ้อย อายุ ๒ ขวบ บุตรของนาย ข. จึงเป็นผู้รับมรดกแทนที่ นาง ก. ไปขอรับมรดกนางทองในฐานะทายาท โดยนาง ค. นาง ง. และนาง จ. ได้ทำหนังสือสละมรดกทั้งสามคน เนื่องจากนาง ก. มีบุญคุณกับทั้งสามคนนี้ โดยนาง ก.เข้าใจว่าเมื่อสละมรดกแล้ว มรดกส่วนของบุคคลทั้งสามที่สละจะตกเป็นของตนทั้งหมด ซึ่งตามกฎหมายการสละมรดกเป็นการสละไปเลยโดยเด็ดขาดผู้สละมรดกไม่มีสิทธิจะเอามรดกไปยกให้กับใครได้อีก แต่เด็กหญิงอ้อยบุตรของนาย ข. กับนางแดง ไม่สามารถสละมรดกได้เนื่องจากเป็นผู้เยาว์ เจ้าพนักงานที่ดินจึงใส่ชื่อ นาง ก.และเด็กหญิงอ้อย เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ โดยไม่ได้ระบุว่ามีสิทธิถือครองคนละเท่าไร
ต่อมาอีก ๑๓ ปี นางก.ได้ไปบอกนางแดงมารดาเด็กหญิงอ้อยปัจจุบันเป็น น.ส.อ้อย ว่าจะขายที่ดินและมีผู้มาทำสัญญาจะซื้อจะขายตกลงราคาขายที่ ๕ ล้านบาท และได้วางมัดจำไว้ ๑ ล้านบาท นาง ก.จึงแบ่งเงินให้นางแดงมารดา น.ส.อ้อย ๒ แสนบาทด้วยเข้าใจว่า น.ส.อ้อย มีส่วนในที่ดินเพียง ๑ ใน ๕ ส่วน ต่อมาผู้ซื้อไม่มาวางเงินตามสัญญา ซึ่งเท่ากับผิดสัญญา และสามารถริบมัดจำได้ นางแดงมารดาน.ส.อ้อยต้องการเงินอีก ๘ แสน จึงไปขอส่วนที่เหลือจากนาง ก. นาง ก.อ้างว่าผู้จะซื้อไม่มาวางเงินต้องรอไปก่อนถ้าอยากได้ให้ไปฟ้องคดีเอาเอง
นางแดงมาปรึกษาผมว่าจะทำอย่างไร ผมจึงแนะนำว่าถ้าจะฟ้องขอเงินส่วนที่เหลืออีก ๘ แสนก็ไม่ได้เพราะนาง ก.ไม่ใช่คู่สัญญาจะซื้อจะขายกับนางแดง และต้องเสียค่าธรรมเนียมอย่างคดีมีทุนทรัพย์ แต่สิทธิของน.ส.อ้อย คือมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับนาง ก. ผมจึงฟ้องขอแบ่งกรรมสิทธิ์ครึ่งหนึ่ง ซึ่งเสียค่าขึ้นศาลเพียง ๒๐๐ บาท แต่นาง ก. ให้การต่อสู้และฟ้องแย้งเรื่องกรรมสิทธิ์ นาง ก.จึงต้องเสียค่าธรรมเนียมตามทุนทรัพย์ที่ฟ้องแย้ง เมื่อสืบพยานโจทก์คือฝ่ายนางแดงมารดา น.ส.อ้อยเสร็จ ทนายจำเลยคือฝ่ายนาง ก. ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความจ่ายเงิน ๘ แสนบาทให้แก่นางแดงมารดาของ น.ส.อ้อย เพราะกลัวจะเสียที่ดินครึ่งหนึ่งของทั้งหมดไม่ใช่ ๑ ใน ๕ ส่วน อย่างที่ตนคิด นางแดงจึงได้เงิน ๘ แสนบาทตามที่ปรารถนาและโอนที่ดินส่วน น.ส.อ้อยให้กับนาง ก. ไป นี่คือผลของข้อสัญนิษฐานของกฎหมายนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น